สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ฮว่านง็อก สมุนไพรในกระแส

ฮว่านง็อก สมุนไพรในกระแส

ฮว่านง็อก  ( Hoan – Ngoc )

สมุนไพรในกระแส 

 

           ถ้าเอ่ยชื่อสมุนไพรที่มีผู้ถามถึงมากในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้น “ฮว่านง็อก" หรือที่คนไทยเรียกว่า “พญาวานร” มีการกล่าวอ้างและนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ มากมาย จริง ๆ แล้วฮว่านง็อกไม่ใช่พืชไทย แต่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเวียดนาม เป็นพืชสมุนไพรใหม่ถูกค้นพบในป่าแถบเวียดนามเหนือเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1990 ต่อมาได้มีการปลูกขยายพันธุ์ ใช้เป็นพืชสมุนไพรและไม้ประดับกระจายไปทั่วประเทศ ฮว่านง็อกถูกนำเข้ามาในไทย โดยกลุ่มทหารผ่านศึกสมัยสงครามเวียดนาม เมื่อแรกเริ่มมีราคาสูงมาก ขนาดนับใบขายเลยทีเดียว แต่ปัจจุบันมีราคาถูกลงเนื่องจากสามารถเพาะพันธุ์ได้ในบ้านเรา

            ฮว่านง็อก  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์  คือ  Pseuderanthemum palatiferum (Nees)  Radlk.  อยู่ในวงศ์ Acanthacea ชื่อพ้อง  คือ Eranthemum palatiferum Nees เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-3 เมตร  ลำต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม เปลือกต้นผิวเรียบสีเขียว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอก กว้าง 3-5 ซม. ยาว 5-15 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบแหลมเรียว ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงใบ 8-11 คู่ ผิวใบมีขนยาวห่าง (pilose) ดอกช่อแยกแขนงแบบช่อเชิงลด (spicitiform paniculate) ใบประดับรูปแถบหรือไม่มีใบประดับ มีก้านดอกย่อย ยาวประมาณ 0.5 มม. มีขนสั้นนุ่มที่ใบประดับ ก้านดอกย่อยและกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปแถบ วงกลีบดอกสีชมพู น้ำเงิน ม่วง หรือ เกือบดำ หลอดดอกรูปทรงกระบอก ดอกปากแตร รูปห้าแฉก เกสรเพศผู้สมบูรณ์ และเป็นหมัน รังไข่เรียบ

            การขยายพันธุ์     สามารถขยายพันธุ์ด้วยการตัดยอดปักชำลงดินก็เกิดราก ตั้งตัวได้เร็วย้ายลงปลูกในกระถาง ใส่ปุ๋ย พรวนดิน รดน้ำ ก็จะเจริญงอกงาม

            สรรพคุณพื้นบ้าน

            ในเวียดนามจะใช้ใบในการรักษาโรคต่างๆ ในคน  ได้แก่  ความดันโลหิต ท้องเสีย ไขข้ออักเสบ คออักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ เนื้องอก ลำไส้อักเสบ ตกเลือด รักษาแผล ท้องผูก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการรักษาและป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยง ได้แก่ แก้ท้องเสียในสุกร และสุนัข รักษาแผล และอหิวาห์ในไก่และเป็ด เป็นต้น

            ในใบของฮว่านง็อก ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ ได้แก่ โปรตีน (ซึ่งพบในปริมาณ 30.8% ของน้ำหนักแห้ง) กรดอะมิโน ได้แก่ ไลซีน เมทไทโอนีน และทรีโอนีน และเกลือแร่ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก และทองแดง   

 องค์ประกอบทางเคมี

          จากการศึกษาพบว่าในใบ ประกอบด้วย Flavonoids, -sitosterol, phytol, 3-0-( -D-glucopyranosyl)-sitosterol, สารผสมระหว่าง stigmasterol และ poriferasterol, n-pentacosan-1-ol และสารผสมระหว่าง kaempferol-3-methyl ether-7-0- -glucoside และ apigenin-7-0- -glucoside, 1-triacontanol, salicylic acid, glycerol  1-hexadecanoate, palmitic acid และ pseuderantin ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน

 

view